มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

โครงการปัจจุบัน

โครงการในอดีต

โครงการในอดีต

  • โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 1 (ตุลาคม 2551 - กันยายน 2553) ,ระยะที่ 2 (ตุลาคม 2553 - มีนาคม 2556) ,ระยะที่ 3 (เมษายน 2556 - กรกฎาคม 2557)

    ระยะที่ 1
    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มอบหมายให้ มพส. เป็นหนึ่งในผู้บริหารโครงการ/กองทุนส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ในการเปิดรับและพิจารณาข้อเสนอจากผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการลงทุนในโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการใช้บริการธุรกิจการจัดการพลังงานให้มากขึ้น โดยจะช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงานของผู้ประกอบการลง โดยมีมูลค่าเงินกองทุนที่ มพส. ได้รับจัดสรรให้บริหารจำนวน 250 ล้านบาท ภายใต้รูปแบบการส่งเสริมการลงทุน 6 ลักษณะ

     

    ทั้งนี้ มพส. เป็นผู้จัดการกองทุนโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 1 มูลค่าบริหาร 250 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 - กันยายน พ.ศ. 2553

     

    ผลงานโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 1 (ตุลาคม 2551 - กันยายน 2553)


    ระยะที่ 2
    มพส. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการกองทุนโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 2 มูลค่าบริหาร 300 ล้านบาท ในช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2553 - มีนาคม พ.ศ. 2556

     

    ผลงานโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 2 (ตุลาคม 2553 - มีนาคม 2556)


    ระยะที่ 3
    มพส. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการกองทุนโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 3 มูลค่าบริหาร 300 ล้านบาท ในช่วงเดือน เมษายน 2556 - กรกฎาคม 2557

    หมายเหตุ : *พพ. แจ้งให้ผู้จัดการกองทุนฯ ยุติการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนตามมติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2558

     

    ผลงานโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) ระยะที่ 3 (เมษายน 2556 - กรกฎาคม 2557)



  • โครงการศึกษาวิเคราะห์การใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า (พพ.) (พ.ศ 2557)

          ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ได้กำหนดเป้าหมายให้การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จาก 7,413 ktoe ในปี 2555 เป็น 25,000 ktoe ในปี 2564 ซึ่งพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ ถือเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสามารถเป็นทางเลือกในการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 3,630 เมกะวัตต์  ก๊าซชีวภาพ 600 เมกะวัตต์ และขยะ 160 เมกะวัตต์ และเป้าหมายเพื่อผลิตความร้อนจากชีวมวล จำนวน 8,200 ktoe  ก๊าซชีวภาพ 1,000 ktoe และขยะ 35 ktoe ในปี 2564

          การมีข้อมูลศักยภาพพลังงานทดแทนที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันนั้น จะทำให้การวางแผนนโยบายด้านพลังงานทดแทนของภาครัฐไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมต่อไป รวมถึงจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนในการเลือกใช้พลังงานทดแทนแต่ละประเภท

          กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้มอบหมายให้มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ดำเนินงาน “โครงการศึกษาวิเคราะห์การใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลศักยภาพพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ สำหรับใช้ในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า และเพื่อพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานทดแทน อาทิเช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะให้มีความทันสมัย ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ไดเมทิลอีเทอร์เพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้กับกรมธุรกิจพลังงาน (พ.ศ 2556)

          ไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl Ether : DME) เป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจในการพัฒนาการลงทุนเพื่อนำมาใช้แทน LPG เนื่องจาก DME เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากวัตถุดิบชนิดต่างๆ หลากหลายประเภททั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เมทานอลและชีวมวล รวมถึง DME มีคุณสมบัติทางกายภาพที่คล้ายคลึงกับ LPG หากประเทศไทยมีศักยภาพวัตถุดิบและสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการนำ DME ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อทดแทน LPG ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ

          เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ในการจ่ายเงินชดเชยราคา LPG นำเข้า กรมธุรกิจพลังงานจึงได้มอบหมายให้มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านเทคนิคของการนำ DME มาใช้ในประเทศไทยเพื่อทดแทน LPG โดยผลการศึกษาที่ได้จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อทดแทน LPG และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษากำหนดแนวทางส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนแบบครบวงจร (พ.ศ. 2554)

          โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนแบบครบวงจร จะหมายถึง โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีที่ตั้งอยู่ในชุมชน โดยที่ท้องถิ่น ชุมชนหรือกลุ่มคนในชุมชนมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของโครงการ รวมถึงการที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลได้มีส่วนทำให้เกิดธุรกิจของชุมชนที่สนับสนุนหรือต่อเนื่องกับโครงการดังกล่าว เช่น การเกิดกลุ่มธุรกิจของชุมชนในการเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงซึ่งเป็นผลผลิตหรือของเหลือใช้ทางการเกษตรของชุมชนให้แก่โรงไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ โดยทั่วไปแนวโน้มของการที่ชุมชนมีส่วนร่วมการลงทุนจะมีรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน เช่น การมีส่วนร่วมโดยการถือหุ้นในธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชนหรือธุรกิจสนับสนุนหรือต่อเนื่องในกิจการนั้น
          ลักษณะของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนที่เหมาะสม ไม่ได้พิจารณาเฉพาะการที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารหรือในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่คนในชุมชนควรได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าด้วย โดยที่โรงไฟฟ้าจะต้องไม่มุ่งเฉพาะผลประโยชน์สูงสุดของโรงไฟฟ้า แต่จะต้องพิจารณาผลประโยชน์ของผู้พัฒนาโครงการในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการให้ผลประโยชน์ต่อชุมชนในระดับที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
    สามารถ download ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทไบโอเอทานอล ให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (พ.ศ. 2553)

              เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551 - 2565) ของกระทรวงพลังงานซึ่งกำหนดให้มีการผลิตและการใช้เอทานอลไม่น้อยกว่า 9 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2565 มพส. ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทไบโอเอทานอล ซึ่งจะเป็นการนำเสนอรูปแบบ แนวทางการบริหารจัดการ ตลอดจนการกำหนดราคาที่เหมาะสม และประเด็นสำคัญ ที่ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับภาครัฐโดยเสนอแนะแนวทางการจัดการและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อผลักดันแผนการผลิตและการใช้เอทานอลให้บรรลุตามเป้าหมายและใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจนโยบายการดำเนินการและการลงทุนโครงการที่เหมาะสม และก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน


  • เป็นที่ปรึกษาโครงการด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในชนบท ภายใต้โครงการด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่สูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (UNJP) ให้กับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) (พ.ศ. 2553)

    ภายใน UN ได้ร่วมมือกันทำโครงการ United Nation Joint Programmed (UNJP) เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่ราบสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่

     
    วัตถุประสงค์ที่ 1 : เพิ่มผลผลิต กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มที่อ่อนไหว


    วัตถุประสงค์ที่ 2 : ส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


    วัตถุประสงค์ที่ 3 : เพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการทางสังคม เช่น สาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น ให้กับกลุ่มที่อ่อนไหว


    โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้มอบหมายให้มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในชนบท เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ที่ 2 ของ UNJP ได้แก่ การส่งเสริมการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนโดยมีบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมผ่านทางกลไกพลังงานสีเขียว  ให้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เป้าหมาย 4 ตำบลของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่

    1) ต.ถ้ำลอด อ. ปางมะผ้า 
    2) ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 
    3) ต.แม่สวด อ.สบเมย 
    4) ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง

    โดยกิจกรรมครอบคลุมถึงการศึกษาปัญหาและความต้องการของชุมชน การฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาโครงการตัวอย่าง
    ทั้งนี้ มพส. ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งได้นำเสนอโครงการตัวอย่างที่จะพัฒนาโครงการแก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่นรวมถึงผู้แทนชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานในส่วนการพัฒนาโครงการซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ และจัดฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงาน

    ดูผลงานโครงการด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในชนบท

  • การศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (พ.ศ. 2552)

    จากปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์ - อุปทานของเชื้อเพลิงชีวมวล ส่งผลให้เชื้อเพลิง ชีวมวลที่สามารถจัดการได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย มีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันเชื้อเพลิงชีวมวลที่ต้องการการจัดการ ได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง
    ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม ยังมีการนำไปใช้น้อยมาก โดยสัดส่วนที่ยังไม่มีการใช้สูงกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากมีต้นทุนการจัดการสูงเพราะมีน้ำหนักเบาและมีสิ่งปนเปื้อนมาก จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก ชีวมวลเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมการใช้ชีวมวลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านพลังงาน อาจจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขนาดเล็ก ซึ่งมูลค่าการลงทุนต่อหน่วยของเทคโนโลยีขนาดเล็กจะสูง เนื่องจากไม่มีความประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) มพส. จึงเสนอแนะแนวทางให้มีการกำหนด “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” สำหรับเทคโนโลยีขนาดเล็กในระดับที่เหมาสม และรักษาระดับ
    “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” สำหรับเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยรัฐให้การสนับสนุนข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ตัดสินใจการลงทุนได้ถูกต้อง

     

    ทั้งนี้ มพส. ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่ศึกษาวิเคราะห์และเสนอความเห็นต่อข้อเสนอมาตรการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ โดยผ่านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมถึงการเป็นตัวกลางในการรวบรวมความเห็นของผู้ประกอบการต่อนโยบายภาครัฐและเสนอความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สกพ. และ สนพ.) เพื่อให้ภาครัฐปรับปรุงนโยบายและมาตรการให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

  • เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) และ 97(5) ให้กับ สกพ. (พ.ศ. 2552)

    เป็นโครงการศึกษาแนวทางการดำเนินงานของ “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” โดยมีวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อสนับสนุนสำหรับการให้บริการไฟฟ้า ไปยังท้องที่ต่างๆอย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น
    การพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของการไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึง
    ความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า


    ทั้งนี้ การดำเนินงานตามมาตรา 97(4) และ 97(5) ได้แก่

    มาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

    มาตรา 97(5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก
    และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดย มพส. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4)
    และ 97(5)ตลอดจนร่างระเบียบ คู่มือ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของกองทุนตามมาตราดังกล่าว

  • เป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานหมุนเวียนของ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
    และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับ กฟภ. (พ.ศ. 2552)

    ประกอบด้วยขอบเขตการศึกษา ดังนี้
    1. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 ปี (พ.ศ. 2553 - 2557) โดยศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของพลังงาน
    หมุนเวียนในแต่ละประเภทที่คงเหลือและการประเมินโอกาสการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทต่างๆ ที่มีการลงทุนจริง
    ตลอดจนจัดทำรายงานแผนการจัดสรรงบประมาณของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า และศึกษาแหล่งเงินทุนรวมถึง การสนับสนุนทางการเงินเพื่อร่วมทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน

     

    2. การศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 100 แห่ง โดยใช้เศษไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นเชื้อเพลิง
    โดยดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินศักยภาพชีวมวลจากเศษไม้ของ อ.อ.ป. เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม ผลการศึกษาทางด้านการเงิน
    แนวทางการบริหารความเสี่ยงของเชื้อเพลิง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการสำรวจความคิดเห็นและประเมินการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ

     

    3. การศึกษาความเป็นไปได้และเสนอแนะแนวทางการลงทุนโครงการสถานีผลิตพลังงานชุมชน โดยดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และประเมิน
    การลงทุนพัฒนาโครงการสถานีผลิตพลังงานชุมชน ตลอดจนการศึกษาวิเคราะห์ระเบียบ ข้อกฎหมาย และรูปแบบในการลงทุน หรือร่วมลงทุนระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ/หรือ ภาคเอกชนที่มีความสนใจร่วมลงทุนโครงการสถานีผลิตพลังงานชุมชนโดย มพส. จัดทำสรุปผลการศึกษาและจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการฯ ต่อผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กฟภ. เรียบร้อยแล้ว


  • เป็นที่ปรึกษาโครงการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคต (Load Forecast) ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2552)

    มพส. ได้จัดทำแบบจำลองการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในระยะยาว ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพยากรณ์ค่าพลังงานไฟฟ้า การพยากรณ์ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด และการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้านอกระบบ โดยเริ่มจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในแต่ละประเภทอัตราค่าไฟฟ้าตามกิจการต่างๆ ซึ่งแบ่งตามเขตการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เป็นค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศ การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้านอกระบบ (การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และการซื้อไฟฟ้าตรงจากผู้ผลิตเอกชน) และการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

     

    การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 8 ประเภทตามอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง ส่วนราชการและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร การสูบน้ำเพื่อการเกษตรและอื่นๆ โดยมีรูปแบบแบบจำลองการพยากรณ์ที่ผสมผสานกันระหว่างวิธีการพยากรณ์แบบ End-use และวิธีทางเศรษฐมิติ (Econometric) ทั้งนี้ สัดส่วนของค่าพยากรณ์ระหว่างวิธี End-use และวิธีการทางเศรษฐมิติในการศึกษานี้จะเป็น 45.7% ต่อ 54.3% โดยประเภทอัตราค่าไฟฟ้าที่พยากรณ์โดยวิธี End-use ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง

     

    ปัจจัยหลักที่ใช้พิจารณาความต้องการไฟฟ้าทั้งในแบบจำลองโดยวิธี End-use และวิธีการทางเศรษฐมิติ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product, GDP) ซึ่งพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่แบบจำลองโดยวิธี End-use ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้พิจารณาร่วมด้วย ได้แก่ ปัจจัยอุณหภูมิ ปัจจัยอัตราค่าไฟฟ้า และปัจจัยการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและการซื้อไฟฟ้าตรงจากผู้ผลิตเอกชน ตลอดจนปัจจัยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า อาคาร และโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้าสู่ระบบในปีต่างๆ ทั้งนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเป็นไปตามแผนการดำเนินการและการประกาศบังคับใช้ของกระทรวงพลังงาน

     

    ผลการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในอนาคตที่ได้ในแต่ละกรณีสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำปัจจัย/สมมติฐานต่างๆ มาพิจารณา ซึ่งผลการพยากรณ์จะประกอบด้วยความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวมของประเทศ ความต้องการพลังงานไฟฟ้านอกระบบ ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในระบบ ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด และผลการเปรียบเทียบระหว่างค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตที่ได้ของกรณีต่างๆ เทียบกับกรณีฐาน ซึ่งผลการพยากรณ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยการสูงขึ้นของอุณหภูมิมีผลทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและการซื้อตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน อัตราค่าไฟฟ้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

  • เป็นที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2551)

  • การดำเนินโครงการกลไกพลังงานสีเขียว (Green Energy Mechanism) (พ.ศ. 2551)

    มพส. ได้เริ่มดำเนินโครงการกลไกพลังงานสีเขียว เมื่อปลายปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้าและพื้นที่ทุรกันดาร รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยในระยะยาวจะขยายสู่การเป็นตลาดไฟฟ้าสีเขียวที่ผู้บริโภคและภาคเอกชนทั่วไปจะเลือกซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการรับบริจาคการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

     

    ในช่วงแรกของการพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างระดมการสนับสนุนจากภาคเอกชน มพส. ได้ใช้เงินสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม โครงการติดตั้งกังหันลมขนาดเล็ก โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเตานึ่งใบเมี่ยง โครงการปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการอบรมวิธีการบำรุงรักษา

     

    กลไกพลังงานสีเขียว จัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และ มพส. ร่วมกันจัดตั้งและบริหารจัดการเงินสนับสนุนกลไกพลังงานสีเขียวในรูปแบบของกองทุน โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการกองทุนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ทำหน้าที่บริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้การรับรองการเข้าร่วมโครงการและตราสัญลักษณ์ “Green Energy Mark” เพื่อมอบให้ผู้ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวนำไปใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการตลาด โดย มพส. จะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานในพื้นที่/องค์กรพัฒนาทองถิ่น และดำเนินการระดุมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ

     

    ดูผลงานกลไกพลังงานสีเขียว


  • สำรวจทัศนคติผู้บริโภคเรื่องตลาดไฟฟ้าสีเขียวของประเทศไทย (พ.ศ. 2550)

  • ศึกษาการจัดเตรียมร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการไฟฟ้า และแนวนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า
    จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (พ.ศ. 2550)

  • เป็นที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนงานด้านกฎหมาย ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2550)

  • การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน (ระดับมหภาค) (พ.ศ. 2550)

    มพส. ได้ดำเนินการศึกษา “แนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในระดับมหภาค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการส่งเสริมชีวมวลภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานปี 2550 - 2554 ให้แก่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลที่เหมาะสม

     

    การศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ทราบศักยภาพที่แท้จริงของชีวมวลที่มีใช้ในปัจจุบัน โอกาสและความสามารถในการรวบรวมเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตไฟฟ้า และความร้อน การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึง เสนอแนะแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ตลาดการซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลในอนาคต โดยในการศึกษานี้ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะในด้านศักยภาพเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับพลังงานชีวมวลของไทย

    การดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ยังนำมาสู่จุดเรียนรู้ต่อการเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม ในการส่งเสริมการพัฒนาและใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยตามนโยบายของภาครัฐให้ประสบผลสำเร็จต่อไป

  • การศึกษาแนวทางการบริหารความเสี่ยงการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวมวล
    (Risk Guarantee Study) (พ.ศ. 2550)

    มพส. ได้ทำการศึกษาเครื่องมือทางการเงินและระบบรับประกันความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน ของต่างประเทศและประเทศไทย และได้ศึกษาสภาพตลาดและราคาชีวมวลแกลบ รวมถึงชีวมวลอื่นๆ ที่ทดแทนแกลบได้ เพื่อนำมาประกอบการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวมวล โดยสามารถสรุปผลการศึกษาได้ว่า โอกาสในการสร้างสภาพคล่องของชีวมวลประเภทเศษไม้มีความเป็นไปได้ ซึ่งในขณะนี้ภาครัฐได้ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกไม้โตเร็ว และโรงไฟฟ้าชีวมวลรายใหม่ๆ เริ่มปลูกไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงสำรอง หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับ70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งหมายถึงราคารับซื้อไฟฟ้าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อราคาชีวมวลแล้ว โดยราคาชีวมวลจะเคลื่อนไหวหรือปรับตัวตามราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลคือถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนกัน ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้จะสามารถใช้การเคลื่อนไหวของราคาถ่านหินกำหนดเป็นดัชนีอ้างอิงราคาชีวมวลประเภทไม้สับเพื่อการพัฒนาตลาดตราสารอนุพันธ์ให้เป็นกลไกในบริหารความเสี่ยงในช่วงของการดำเนินโครงการได้ต่อไป
  • จัดอบรม “พลังงานหมุนเวียน” ให้กับข้าราชการกระทรวงพลังงาน สื่อมวลชนและสถาบันการเงิน (พ.ศ. 2550)

  • ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2550)

  • ยื่นเสนอโครงการซีดีเอ็ม ให้แก่สถานทูตเดนมาร์ก (พ.ศ. 2550)

  • เป็นที่ปรึกษาการจัดทำพยากรณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้า
    จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2550)

  • เป็นที่ปรึกษาด้านระบบส่ง โครงการศึกษาสนับสนุนการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่
    ให้กับ สนพ. (พ.ศ. 2550)

  • ศึกษาการจัดการขยะชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ให้กับสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (พ.ศ. 2549)

  • การศึกษาการขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (พ.ศ. 2548)

    สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มอบหมายให้ มพส. ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุงและจัดทำร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากอย่างจริงจัง และมาตรการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อเป็นสิ่งจูงใจกับผู้ลงทุนและสังคม รวมทั้งเพื่อเสนอแนะการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในส่วนของ Renewable Portfolio Standard (RPS) ให้มีความสมบูรณ์สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ

    หลักการที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ การขยายปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากให้มากกว่า 1 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากหลักการต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided Cost) โดยอาจให้เงินสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีต้นทุนสูง และการให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้โดยตรง รวมถึงให้มีการกำหนดมาตรฐานและค่าใช้จ่ายในการเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการให้เงินสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลการศึกษาในโครงการนี้ได้นำไปสู่การปรับปรุงระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยมีการขยายปริมาณไฟฟ้ารับซื้อจาก 1 เมกะวัตต์ เป็น 10 เมกะวัตต์ และการกำหนดมาตรฐานการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายถูกลง และผลการศึกษานี้ได้นำไปสู่มาตรการการกำหนดอัตราส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder)

  • การส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานจากฟอสซิล (พ.ศ. 2548)

    ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมักจะบำบัดน้ำเสียเพียงเพื่อให้สามารถปล่อยน้ำทิ้งออกจากโรงงานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทให้การจัดการน้ำเสียเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น นอกจากจะได้น้ำทิ้งที่มีคุณภาพสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่น ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และสามารถผลิตพลังงานมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้อีกด้วย

    ในช่วงที่ผ่านมา มพส.ได้ให้การส่งเสริมการก่อสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยการให้คำปรึกษาและออกแบบระบบจัดการน้ำเสียในโรงงานฆ่าสัตว์จำนวน 8 ราย และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 2 ราย ได้แก่ บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ค จำกัด อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี บริษัท ชัยพัฒนาฟาร์ม จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท สามพราน ซลอเทอร์เฮาส์ จำกัด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บริษัท สยามอินเตอร์พอร์ค จำกัด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลธรรมศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม บริษัท ท่าชนะน้ำมันปาล์ม จำกัด และ บริษัท ปาล์มน้ำมันธรรมชาติ จำกัด

  • การศึกษาแนวทางการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ (พ.ศ. 2547)

    จากการศึกษาการให้เงินสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มพส. ได้พบข้อบกพร่องในบางประเด็นและมีข้อเสนอว่า ในการใช้วิธีประมูลเพื่อกำหนดระดับการสนับสนุนในอนาคต จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติให้ครบถ้วนและรัดกุมตั้งแต่ต้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขภายหลัง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในการพัฒนาโครงการระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ควรกำหนดการสนับสนุนให้ครอบคลุมเทคโนโลยีการผลิตที่หลากหลาย และควรให้การสนับสนุนเพิ่มเป็นพิเศษสำหรับโครงการที่มีความร่วมมือจากชุมชน รวมทั้งควรมีการสนับสนุนข้อมูลศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง และควรทำการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการทำชุมชนสัมพันธ์ในท้องถิ่นต่างๆ ในการจัดทำนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนของไทย มพส. เสนอให้ใช้หลายมาตรการประกอบกัน ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการหลักได้แก่

    1. มาตรการสนับสนุนทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี
    2. มาตรการผลักดันด้านปริมาณหรือกำลังการผลิต
    3. มาตรการผลักดันด้านราคา
    4. มาตรการสนับสนุนด้านภาษี
    5. มาตรการสนับสนุนด้านระเบียบปฏิบัติ

     

    ผลที่ได้จากการศึกษานี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สามารถนำไปกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในลักษณะการสนับสนุนเงินลงทุน (Investment Subsidy) โครงการต้นแบบพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

  • การศึกษาต้นทุนการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2547)

  • การศึกษาศักยภาพชีวมวลให้แก่ภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น บ.โตโยต้า ทชูโช (ประเทศไทย) บมจ. กัลฟ์อิเลคตริค,
    โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล หจก. รุ่งเรืองผลเขาฉกรรจ์ เป็นต้น (พ.ศ. 2547)

  • ศึกษาความเป็นไปได้และหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าแกลบ 10 เมกะวัตต์ ให้กับ บริษัท มุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์
    (พ.ศ. 2547)

  • ให้ความเห็นอิสระต่อรายงานการศึกษาศักยภาพชีวมวลภาคตะวันออกของบริษัท โกลว์ พลังงาน (พ.ศ. 2547)

  • สำรวจการใช้พลังงานในเขตสำนักงานพลังงานภูมิภาค 1 -12 ให้กับกระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2547)

  • เป็นที่ปรึกษาไทยธนาคาร โครงการโรงไฟฟ้าแกลบอู่ทองไบโอแมส ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (พ.ศ. 2547-2548)

  • โครงการศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล (พ.ศ. 2544-2549)

    ศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวลจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility - GEF) การสนับสนุนด้านเทคนิคจากโครงการความช่วยเหลือระหว่าง ประเทศแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance - DANIDA) รวมทั้งได้ รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้ในการบริหารโครงการฯ ในการนี้ สนพ. ในฐานะผู้บริหารโครงการได้มอบหมายให้ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) เป็นผู้ดำเนินงานตามโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการใช้ชีวมวลเพื่อการผลิตพลังงานให้แพร่หลายในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย คือ สร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของระบบผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลให้แก่เจ้าของแหล่งชีวมวล นักลงทุน สถาบันการเงิน รวมถึงประชาชนทั่วไป ลดอุปสรรคทางด้านการลงทุนของโครงการที่ใช้ชีวมวล ศึกษาและเสนอแนะนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพลังงานชีวมวล ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com