มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

การประเมินผลกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยองค์กรระหว่างประเทศ


โดยคุณสุวพร ศิริคุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
นายภักดิ์ ทองส้ม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

       การกล่าวหาและโจมตีการบริหารนโยบายพลังงานปิโตรเลียมของ NGO บางกลุ่ม ได้เริ่มจากการจุดกระแสราคาน้ำมัน โดยใช้วิธีเลือกให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความสับสน และสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนทั่วไป ต่อมาได้ขยายผลถึงวิธีการให้สัมปทานปิโตรเลียมของรัฐ โดยแสดงความเห็นว่าเป็นวิธีที่ประเทศเสียเปรียบเก็บผลประโยชน์ได้น้อย และปัจจุบันได้โยงถึงกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกล่าวหาว่า
เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำมันต้องมีราคาสูง กองทุนฯ ไม่มีความเหมาะสมเพราะเป็นการเงินจากผู้ใช้น้ำมันไปสนับสนุนด้านอื่น การใช้จ่ายเงินองทุนฯ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

      กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ภายใต้ พระราชบัญญัติการส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายได้ของกองทุนฯ มาจากการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมัน ในราคาขายปลีกน้ำมันจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.07-0.25 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการเก็บเงินจากผู้สร้างมลภาวะ (เชื้อเพลิงฟอสซิล) รวมไปถึงการใช้น้ามันที่เป็นสาเหตุให้ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันมากขึ้นหากการใช้ไม่มีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ในการนำเงินกองทุนฯ ไปสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดมลภาวะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับกองทุนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ NGO ทั้งหลายให้การสนับสนุน ซึ่งเก็บเงินจากผู้บริโภคสุราและยาสูบ ไปดำเนินการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม

      การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นอกจากคณะกรรมการจะต้องทำหน้าที่ประเมินผลตามกฎหมายแล้ว รวมถึงการตรวจสอบการใช้เงินโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กองทุนฯ รวมถึงโครงการของกองทุน เช่น โครงการเงินทุนหมุนเวียนด้านพลังงาน โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (โครงการ ESCO Fund) ยังได้ถูกประเมินผลโดยองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งต่างเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง จึงได้นำไปเป็นโครงการตัวอย่างไปดำเนินการในประเทศอื่นๆ โดยผลการศึกษาของธนาคารโลกที่ชื่อว่า “Unlocking Commercial Financing For Clean Energy in East Asia” และงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ศึกษาถึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยตรงชื่อ Case Study Report; Thailand Energy Conservation Fund งานวิจัยทั้งสองฉบับได้ศึกษาถึงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และประเมินผลสำเร็จตามหลักวิชาการ และค้นหาเงื่อนไขและปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว เพื่อนำไปเผยแพร่ในเวทีโลกให้ประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้และนำไปใช้เป็นแบบอย่าง

      ผลการศึกษาทั้งสองเล่มนี้สรุปรวมกันได้ว่า แนวทางในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานนั้น จำเป็นที่จะต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างการกำหนดแนวนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม ร่วมกับการมีเงินทุนให้ธุรกิจเอกชนไปดำเนินโครงการ โดยทั้งสองเรื่องนั้นจะต้องสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน สำหรับนโยบายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องจัดวางให้พร้อมก่อนด้านการเงิน โดยหลักการที่สำคัญคือการทำให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาดสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ร่วมกับการออกข้อบังคับด้านมาตรฐานของอุปกรณ์ประหยัดพลังงานต่างๆ ส่วนด้านพลังงานทดแทนรัฐจำเป็นต้องช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนลดลง และไม่ควรมีการชดเชยราคาพลังงานจากฟอสซิล หลังจากนโยบายพร้อมแล้ว จึงมาดำเนินงานในด้านการสนับสนุนเงินทุนต่อไป

      สำหรับโครงการ ESCO Fundซึ่งเป็นตัวตอบสนองด้านเงินทุน ทั้งงานศึกษาของธนาคารโลกและUNDP ได้สรุปในทำนองเดียวกันว่าเป็น “นวัตกรรมของการออกแบบโครงการ” ที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลสำเร็จของการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าว คือ การให้ทั้งเงินทุนควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อให้ผู้ลงทุนได้เรียนรู้และเข้าใจได้ถูกต้อง การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการที่ครบถ้วน ทั้งในด้านเทคนิค ศักยภาพพลังงานหมุนเวียน กฎระเบียบ และการเงิน ซึ่งการให้การสนับสนุนด้านเทคนิคนี้ นำไปสู่ความมั่นใจของสถาบันการเงินในการให้การสนับสนุนทางการเงิน เมื่อผนวกกับเงินสนับสนุนจาก ESCO Fund จึงทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ เมื่อภาคธนาคารได้เห็นโอกาสจากผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ลดลง การขยายผลต่อเนื่องสู่โครงการอื่นๆ จึงเกิดขึ้น

      ส่วนผู้ลงทุนเมื่อได้ผลตอบแทนมาแล้ว ก็จะต้องส่งเงินคืนกลับเข้าสู่กองทุนฯ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนให้กับรายอื่นๆ ต่อไป การให้เงินทุนก้อนแรกบวกกับความรู้เชิงเทคนิคจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะส่งผลต่อไปยังความสำเร็จที่คาดหวังได้ และยิ่งถ้าเป็นวิสาหกิจขนาดเล็กซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและหลักประกันทางการเงิน โครงการ ESCO Fund จึงต้องออกแบบให้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ โดยวิธีการสนับสนุนเงินทุนที่ไม่ใช่การให้กู้ยืม แต่เป็นการเข้าร่วมลงทุนหรือการให้เช่าซื้ออุปกรณ์ นอกจากนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาที่เอาเงินเข้าไปสนับสนุนแต่ละรายไว้เพียง 5-7 ปี หลังจากนั้นได้ถอนตัว เพราะไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปแสวงหากำไรหรือผลตอบแทนเหมือนธุรกิจปรกติทั่วไป โครงการมีเป้าหมายเพียงแค่ว่าให้ธุรกิจพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสามารถเกิดขึ้นและยืนอยู่ด้วยตัวเองได้

      ทั้งหมดนี้คือข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้มุมมองของธนาคารโลกและสำนักงานพัฒนาแห่งสหประชาชาติที่ได้เห็นถึงความสำเร็จ และได้มีการนำไปเผยแพร่ในเวทีสากลแล้ว

23 มีนาคม 2559
www.bangkokbiznews.com

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com