มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน...นำร่องโซล่ารูฟท๊อปเสรี

     หนึ่งปีที่ผ่านมา การปฏิรูปด้านพลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลายเรื่อง แต่ด้านการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนกลับไม่มีความคืบหน้า
โดยสะท้อนจากมาตรการของกระทรวงพลังงานที่ถูกชะลอในขั้นตอนการดำเนินการ เช่น โครงการพลังงานจากขยะ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยวิธีประกวดราคา และโครงการโซล่าฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร และท่ามกลางความสับสนกับมาตรการที่เป็นอยู่ กระทรวงพลังงานก็ออกมาประกาศถึงโครงการนำร่องการส่งเสริมโซล่าร์รูฟท๊อปเสรีผลิตเพื่อใช้เองจำนวน 100 เมกะวัตต์ ที่ทำให้เกิดความสงสัยอะไรคือนำร่องและเสรีแต่มีจำกัดเมกะวัตต์

     ภาครัฐยังยึดติดกับแนวคิดที่ว่า พลังงานหมุนเวียนทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีรวมถึงการแข่งขันด้านการตลาด
ได้ทำให้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่ถูกลง พลังงานหมุนเวียนบางประเภท เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม สามารถแข่งขันกับการผลิตไฟฟ้าด้วย LNG หรือก๊าซธรรมชาตินำเข้า ซึ่งหากรัฐจะรับซื้อไฟฟ้า โดยยึดหลักการของต้นทุนหน่วยสุดท้ายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่เรียกว่า Avoided Cost ก็ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่งรวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าด้วยราคานี้กับระบบ Net-metering ของโซล่าร์รูฟท๊อปด้วย

     ข้อจำกัดด้านสายส่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะให้เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าเป็นผู้ให้ความเห็นของความพร้อมด้านสายส่ง โดยไม่ได้มีการทบทวนหรือตรวจสอบความถูกต้อง จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีสถานะเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย พร้อมกับการเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟฟ้าด้วย การจะอ้างข้อจำกัดด้านเทคนิคเพื่อกีดกันการรับซื้อก็อาจสามารถกระทำได้ดังนั้น การวิเคราะห์ปัญหาข้อจำกัดด้านสายส่งจึงจำเป็น โดยกระทรวงพลังงานจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอิสระทำการตรวจสอบรวมถึงหาวิธีแก้ไขปัญหาอุปสรรค ขนานไปกับการดำเนินการของการไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ปัจจุบันยังไม่มีการปฏิบัติ

     ปัญหาอุปสรรคส่วนหนึ่งยังมาจากระเบียบกฎเกณฑ์ของภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปัจจุบัน การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐจะเข้าข่ายการร่วมลงทุนทั้งสิ้น และไม่ว่าโครงการจะมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งสร้างปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ การไม่มีหน่วยงานใดของภาครัฐเป็นเจ้าภาพในการประสานผลักดันการดำเนินการและแก้ไขปัญหาอุปสรรค โดยแต่ละฝ่ายจะดำเนินการเฉพาะในส่วนที่ตนเกี่ยวข้อง การประสานผลักดันจึงไม่เกิดขึ้นสำหรับการกำหนดนโยบายและมาตรการนั้น จำเป็นต้องศึกษาปัญหาและอุปสรรคอย่างถี่ถ้วน สภาพตลาดที่แท้จริง ความก้าวหน้าด้านเทคนิคและเทคโนโลยี และรวมถึงการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จึงจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการที่สามารถดำเนินการได้

     โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซล่าร์รูฟอย่างเสรี เป็นข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
ได้ให้ความเห็นชอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไปกำหนดแนวทางปฏิบัติในลักษณะโครงการนำร่อง ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลักโดยขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าให้น้อยที่สุด ในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ก่อภาระต่อประชาชน(ระบบ Net-metering) แต่สำหรับโครงการนำร่องที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในครั้งนี้ จะไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว

     โดยจะไม่มีการดำเนินการในเรื่อง Net-metering เนื่องจากติดระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า ที่ไม่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงการนำร่องจึงเป็นเพียงการติดตั้งระบบโซล่ารูฟที่ผลิตเพื่อใช้เองเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลเท่านั้น ได้แก่ การประเมินการผลิตไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าไหลย้อนเข้าระบบการลดการสูญเสียและผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า และการประเมินผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการจะเริ่มได้ปลายปี 2559

     ปัจจุบันการติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในการลดค่าไฟได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วเพราะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีการคืนทุนในเวลาเพียง 7-8 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้นานถึง 25 ปี และจากมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ลงทุนในมาตรการการประหยัดพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดถึง 50% ของเงินลงทุน ยิ่งทำให้การคืนทุนเร็วขึ้นสามารถคืนทุนได้ในเวลา 4-5 ปี ในขณะที่การจัดการไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลย้อนเข้าระบบสามารถจัดการได้ นอกจากใช้การใช้วิธีติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟในขนาดที่สอดคล้องกับโหลดการใช้ไฟแล้ว ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่ระบบ inverter สามารถควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ก็ทำให้สามารถบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าที่ออกมาได้ในระดับที่สอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม

     สำหรับโครงการนำร่องของกระทรวงพลังงาน หากจะเป็นเพียงการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผล โดยไม่นำระบบ Net-metering มาใช้ และใช้ในเวลาที่นานถึง 1 ปีนั้น จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งระบบ Net-metering นั้น มีการดำเนินการในต่างประเทศมานานแล้ว จึงสามารถศึกษาผลกระทบ ตลอดจนความจำเป็นต้องดำเนินการด้านเทคนิค จากประสบการณ์จริงเหล่านั้น สำหรับระเบียบการเชื่อมขนานไฟที่เป็นอุปสรรคนั้น ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในการปรับปรุงแก้ไขโดยที่จริงแล้วปัญหาหลักของการใช้ระบบ Net-metering นั้น ก็คือปัญหาในการจัดเก็บภาษี ที่หน่วยงานด้านภาษีไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีในอัตราสุทธิ (ของหน่วยซื้อขายไฟฟ้าที่หักลบสุทธิแล้ว) โดยเห็นว่าทุกหน่วยที่มีการซื้อหรือขายควรมีการจ่ายภาษีการผลักดันในเรื่อง Net-metering จึงได้ยืดเยื้อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

     การดำเนินการโครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท๊อปเสรีจะเกิดประโยชน์เต็มที่ หากจะมีการดำเนินการให้ครบทุกองค์ประกอบ คือ มีการทดลองใช้ระบบ Net-metering โดยไฟฟ้าที่เหลือใช้แม้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องได้ขายเข้าระบบในราคาที่เหมาะสม จึงจะเกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคที่เข้าร่วมโครงการ

     ในขณะเดียวกัน การไฟฟ้าจะต้องไม่ใช้ข้ออ้างของการมีโครงการนำร่อง กีดกันการขนานไฟกับระบบของผู้มีความพร้อมในการติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟเพื่อใช้เองที่สามารถจัดการไม่ให้ไฟไหลย้อนเข้าระบบได้ พร้อมกันนั้น การดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทั้งในเชิงด้านเทคนิคและการปฏิบัติอื่น จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน มีระยะเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน จึงจะเป็นผลให้เกิดการดำเนินการของระบบโซล่าร์รูฟเสรีได้อย่างแท้จริง

สุวพร ศิริคุณ
กรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
2 มีนาคม 2559
www.bangkokbiznews.com
 



Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com