มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

พ.ร.บ.พลังงานทดแทน ได้แค่ร่าง 3เดือนยังไปไม่ถึงไหน-เหตุวิธีเก็บเงินเข้ากองทุน


      พ.ร.บ.พลังงานทดแทนสะดุด ครม.โยนเรื่องถามความเห็นกระทรวงพลังงาน-กระทรวงการคลัง เหตุเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องจัดตั้ง "กองทุนใหม่" ด้าน สนช.เตรียมตัดรายละเอียดกองทุนทิ้งเพื่อให้ พ.ร.บ.ผ่าน ครม.ได้เร็วขึ้น ส่วนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ห่วงประเด็นอำนาจใบอนุญาตที่ทับซ้อนกันจะเป็นปัญหา

      กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีพระราชบัญญัติพลังงานทดแทน พ.ศ. ...แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่มีการสานต่อ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา และติดตามด้านพลังงานทดแทน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หยิบร่างดังกล่าวมาพัฒนาใหม่ และส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

      โดยเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการส่งเสริมให้มีการผลิต การใช้ และพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และที่สำคัญจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนพลังงานทดแทน โดยระบุที่มาของแหล่งเงินทุน เช่น เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน หรือเงินรับโอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี

      พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามด้านพลังงานทดแทน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่ สนช.ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติพลังงานทดแทนไปแล้ว พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณา แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไปแล้ว 3 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการของคณะอนุกรรมาธิการ พบว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คือ การตั้งกองทุนพลังงานทดแทน จึงจำเป็นจะต้องมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานด้วย ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความล่าช้ามานานแล้ว สนช.จึงมองว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยวิธีการตัดรายละเอียดของกองทุนออกไป เมื่อไม่มีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะ ครม.มีกรอบเวลาพิจารณาไว้เพียง 15 วัน หากไม่มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเดินหน้าตามกระบวนการ และประกาศเป็นกฎหมายได้ทันที คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะต้องมีการหารือในประเด็นนี้ เพื่อปรับแก้ไขรายละเอียดของ พ.ร.บ.พลังงานทดแทน ก่อนที่จะนำเสนอ ครม.อีกครั้ง โดย สนช.มองว่า เป็นกฎหมายที่ดีเพื่อใช้ดูแลและบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน จากที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาหลายอย่างจากการลงทุนด้านพลังงานในหลายประเด็น

      "ต้องหาทางออก เพื่อให้พลังงานทดแทนสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ในช่วงปีที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่โครงการที่สามารถพัฒนาได้ เช่นจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งที่ภาครัฐต้องการผลักดัน แต่หากไม่มีตัวกฎหมายที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ คือ ภายใน 20 ปีจะต้องมีการใช้พลังงานทดแทนที่ 30%"

      ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เรียกประชุมหารือเพื่อสรุปรายละเอียดความเห็นต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าว และสรุปรายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดย พพ.มองว่า ประเด็นที่น่ากังวลคือ พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจไปทับซ้อนอำนาจของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่มากกว่า เช่น การออกใบอนุญาต ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการอยู่ หรือแม้แต่ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการอยู่ ฉะนั้นแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ให้ยกทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนมาไว้ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ส่วนใบอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ถือว่ายังเป็นอำนาจของหน่วยงานเดิม

      ในส่วนของกองทุนพลังงานทดแทนนั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บเงินเพิ่มจากผู้ใช้น้ำมัน แต่จะเป็นการแบ่งเงินบางส่วนที่เก็บอยู่แล้วจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น เพื่อนำมาส่งเสริมพลังงานทดแทน ขั้นตอนจากนี้ คือ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะถูกนำเข้าไปสู่การพิจารณาตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา สนช.และเข้า ครม.ต่อไป

      "พ.ร.บ.พลังงานทดแทน จะเป็นตัวอำนวยความสะดวกในการพัฒนาพลังงานทดแทน เปิดทางที่เป็นข้อติดขัดให้ ทำให้โครงการพลังงานต่าง ๆ ถูกพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ ได้ใช้พลังงานที่เป็นศักยภาพของประเทศ และลดการนำเข้าพลังงาน"

19 พฤศจิกายน 2558

http://www.prachachat.net


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com