มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ในบางสถานการณ์ การบริหารเศรษฐกิจแบบ CEO เป็นผลเสียมากกว่า
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

ในงานสัมมนาลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมยังยืนการคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเพิ่มถึง 820 จุดในปีนี้ เพราะราคาหุ้นไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่พอใช้ได้ แม้ว่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีนักวิเคราะห์หลายสถาบันเริ่มปรับลดการพยากรณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าทำให้เราไม่มีรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและมรสุมเศรษฐกิจอื่นๆที่กำลังประสพอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้วจะพบว่าการบริโภคของประชาชนและการลงทุนในเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการประท้วงโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้ว่าการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนซึ่งอยู่ในระดับ 6.3% ต่อปีในช่วงปี 2546 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ได้ลดลงโดยตลอดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 เหลือ 4.0% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ส่วนการลงทุนซึ่งลดลงมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2546 ถึงครึ่งแรกของปี 2548 โดยขยายตัวถึง 20.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2546 ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 เหลือ 7.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 เท่านั้น และเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี 2549 ยังชี้ว่าการลงทุนน่าจะชะลอลงต่อไป

การบริโภคและการลงทุนที่ชะลอลงนี้มีสาเหตุหลายประการ ซึ่งจะน่าจะได้แก่ราคาน้ำมันในระดับสูงตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 นี้เป็นผลจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อนำไปใช้หนี้เดิมเป็นหลักและไม่ได้เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเมื่อคิดเป็นเงินบาทยังต่ำกว่าระดับในเดือนกันยายนปีที่แล้ว) อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเท่าที่ควร โดยเฉพาะมาตรการ กฎระเบียบ และการเลือกปฏิบัติที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักธุรกิจด้วยกันเอง และระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ (การชะลอลงของการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเป็นตัวอย่างที่ดี) รวมทั้งต้นทุนในการขออนุญาตที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการประสพความล่าช้าจากนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งๆที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว

สำหรับในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น การบริหารเศรษฐกิจหลายเรื่องดำเนินการโดยหน่วยราชการได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะหลายหน่วยงานมีอำนาจเพียงพอและความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน เช่นการกำหนดนโยบายการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการกำกับดูแลราคาน้ำมันโดยกระทรวงพลังงาน แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอาจถูกแทรกแซงจน "สมองเริ่มฝ่อ" ที่จริงแล้ว การบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดหลายเรื่องคือการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดหรือกติกาที่วางไว้ การที่เรามีรัฐบาลรักษาการอาจดีกว่าการที่เรามีรัฐบาลที่เข้มแข็งและบริหารนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ก็ได้ เช่นหากมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง รัฐอาจสั่งให้กระทรวงพลังงานเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันอีกครั้ง หรือกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชะลอการเพิ่มดอกเบี้ย ซึ่งกลับจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลางมากกว่าดังตัวอย่างที่เห็นแล้วในปี 2548 อาจมีบางเรื่องเท่านั้นที่ต้องการตัดสินใจในระดับนโยบายและต้องรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่น เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ FTA และการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมาก การผลักดันนโยบายที่สำคัญก็แทบเป็นไปไม่ได้

ผมย้อนกลับไปดูการพยากรณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2549 ที่ได้ทำไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่าการคาดการณ์ของบลจ.กสิกรไทยฯอยู่ที่ 4-5% และค่าเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ทั้งหลายอยู่ในระดับ 4.6% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่มีการปรับลดลงในขณะนี้ จึงพอสรุปได้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อเศรฐกิจแต่ไม่ใช่ราคาที่เพิ่งจะเพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือนนี้ แต่เป็นผลสะสมตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจไม่ได้มีผลมากนักอย่างที่มีการพูดกัน ทั้งนี้การที่ปัญหาการเมืองจะยุติโดยเร็วนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเสมอไป ประเด็นที่สำคัญกว่าคือปัญหาทางการเมืองจะยุติอย่างไร ข้อยุติและกระบวนการที่นำไปสู่ข้อยุติจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com