มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ทำไมการลงทุนจึงชะลอลงมาก
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนมิถุนายน 2549 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในประเทศไทยชะลอลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงก็ตาม ซึ่งทำให้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิเคราะห์หลายสถาบันวิเคราะห์ว่าในที่สุดแล้วการลงทุนน่าจะฟื้นตัวขึ้นเพราะธุรกิจและอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปัญหาการเมืองคลี่คลายลงในช่วงปลายปีนี้

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การลงทุนมีความสัมพันธ์กับผลประกอบการของธุรกิจและอัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งในปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและยอดขายสินค้า ราคาสินค้า ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ย และสภาพแวดล้อมอื่นๆในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเมือง นโยบายและกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีผลต่อการลงทุนและการประกอบการของภาคเอกชน เช่นการแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันระหว่างเอกชนด้วยกันและระหว่างภาคเอกชนกับกิจการของรัฐ และระดับของการทุจริตและมิชอบในวงราชการ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบธุรกิจ

การลงทุนซึ่งลดลงมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2542 โดยเริ่มจากการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้นเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 ทำให้การลงทุนรวมขยายตัวถึง 20.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2546 และเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 12.4% ต่อปีในช่วงปี 2546-48 อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 เป็นต้นมา อัตราเพิ่มการลงทุนโดยรวมเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจนเหลือ 6.6% ในไตรมาสแรกของปี 2549 (หากรวมการเปลี่ยนแปลงของสต็อกแล้วลดลง 14.8%) สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้นปรากฏอัตราการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2547 เป็นต้นมา และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่สูงกับการลงทุนภาคเอกชน คือ R Square เท่ากับ 0.9) ในไตรมาสที่สองของปี 2549 เพิ่มขึ้นเพียง 0.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2547 ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาทางการเมือง ซึ่งรวมกันทำให้นักธุรกิจไม่มั่นใจในอนาคตว่าลงทุนแล้วจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ รูปข้างล่างแสดงให้เห็นว่าอัตราเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนในช่วง 2539-ไตรมาสที่ 3 ของปี 2545 มีความสัมพันธ์อย่างค่อนข้างใกล้ชิดกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามแต่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2545 เป็นต้นมาการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การลงทุนที่ชะลอลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้น และที่ชัดเจนมากก็คือการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังเกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน นอกจากนั้นหากเราเปรียบเทียบการลงทุนในประเทศไทยกับการลงทุนในประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้แล้วจะพบว่ามีหลายประเทศที่ประสบปัญหาราคาน้ำมันแพงเหมือนไทยเพราะเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน แต่ในปัจจุบันการลงทุนยังขยายตัวค่อนข้างดีเช่นจีน อินเดีย และสิงคโปร์ซึ่งการลงทุนในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวถึง 27.2%, 9.5% และ 8.9% ตามลำดับ

ดังนั้นการลงทุนที่ชะลอลงนี้ อาจมาจากสาเหตุอื่น การแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันถือว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาดและแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ราคาและคุณภาพสินค้าและบริการที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค แต่นโยบายที่ให้สิทธิแก่ธุรกิจบางกลุ่มจะทำให้อุตสาหกรรมไทยอ่อนแอลงในระยะยาว หรือการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนกับกิจการที่รัฐถือหุ้นบนพื้นฐานและกติกาที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น ซึ่งนอกจากจะขัดกับมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นตัวบั่นทอนความเข้มแข็งของธุรกิจและภาคเอกชนไทยในระยะยาวอีกด้วย

การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและไม่สามารถอธิบายได้จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือปัญหาทางการเมือง การฟื้นตัวของการลงทุนหลังการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคมจึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com