มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ข้อเท็จจริงด้านพลังงาน การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
ของน้ำมัน ULG ชั่วคราว อะไรจะเกิดขึ้น และรัฐควรทำอะไรต่อไป

โดย คุณสุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปรากฏการณ์คนแห่เติมน้ำมันเบนซิน ULG จนน้ำมันหมดปั๊มได้เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานต้องทำตามนโยบายหาเสียง คือ การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนของน้ำมันเบนซินเป็นการชั่วคราว (ตอนหาเสียงไม่แจ้งเรื่องชั่วคราว จะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภครึเปล่าก็ไม่รู้) การทำตามการหาเสียงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะรับปากแล้วควรทำ แต่สิ่งที่สมควรตำหนิคือการทำโดยไม่คำนึงถึงหรือจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นักวิชาการ กูรู ผู้รู้ด้านพลังงานได้ออกมาแสดงความเห็นค้านมาตรการดังกล่าว ว่าเป็นนโยบายผิดทางเป็นการกระตุ้นการใช้น้ำมัน (ซึ่งรัฐควรส่งเสริมให้ประหยัดเพื่อลดการนำเข้าหรือการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ) และเป็นการทำร้ายการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงเอทานอล เมื่อรัฐยกเลิกการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ULG อย่างทันทีทันใด อาการอึ้งเป็นไก่ตาแตกของผู้ผลิตเอทานอลจึงเกิดขึ้น พร้อมกับการจุกอกของผู้จำหน่ายน้ำมันที่ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมัน ULG ไปแล้วเช่น บางจากและ ปตท. แล้วภาพลบของผู้ดำเนินมาตรการก็เกิดขึ้น จากการแก้ผลกระทบรายวันในการปรับอัตรากองทุนและราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบต่อภาระกองทุนน้ำมันก้อนมหึมาที่รออยู่ในอนาคต เครคิตความน่าเชื่อถือของผู้กำหนดนโยบายพลังงานจึงได้ถูกลดลงอย่างเรียบร้อยแล้ว จากการใช้นโยบายที่ไม่รัดกุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า การยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนของน้ำมันเบนซิน ULG เป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพด้านน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ แต่ความจริงแล้วจากสถิติข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกและการศึกษาของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) พบว่า รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศมีถึง 17 ล้านคัน แต่รถเครื่องสองจังหวะที่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน ULG มีเหลือเพียงประมาณ 3 แสนคัน (หรือประมาณ 2%) ในขณที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีทั้งหมดประมาณ 2.9 ล้านคัน เหลือรถเก่าเกิน 15 ปีที่ต้องใช้น้ำมัน ULG อยู่ประมาณ 1.6 แสนคัน (หรือประมาณ 5.7%) หากประเมินจากสถิติดังกล่าวจึงจัดได้ว่ามาตรการที่ดำเนินการเป็นการช่วยผู้มีรายได้ที่ขับรถยนต์ซึ่งชื่นชอบน้ำมัน ULG ได้ชอบใจ จนสถานการณ์น้ำมันหมดปั๊มจึงเกิดขึ้น

แม้ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการชั่วคราวเพียง 1 ปี แต่ผลกระทบที่จะประดังเข้ามาในอนาคตอาจมาก และเป็นภาระสำหรับผู้รับผิดชอบเรื่องพลังงานในอนาคต แม้จะเป็นการดำเนินนโยบายเพียงขั่วคราวหรือ 1 ปี ก็ตาม ซึ่งได้แก่

ราคาน้ำมัน ULG 91 ที่เคยแพงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ 7.40 บาทต่อลิตร ได้เหลือเพียง 3 บาทต่อลิตร ซึ่งขนาดความแตกต่างของราคาถึง 7 บาทต่อลิตร ยังไม่สามารถดึงประชากรรถที่ใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ได้อีกครึ่งหนึ่งให้มาใช้ได้ เมื่อความแตกต่างของราคาเหลือน้อยลง ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะกลับไปใช้ ULG 91 อีกครั้ง กรุณาอย่าถามถึงจิตสำนึกของผู้บริโภค ในเมื่อผู้กำหนดนโยบายยังไม่มีจิตสำนึกในการดำเนินมาตรการ แล้วไฉนจะถามถึงจิตสำนึกของผู้อื่น

การใช้น้ำมัน ULG 91จะเพิ่มขึ้นไปอีกส่วนหนึ่งจากผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 E10 ซึ่งประชากรรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นรถที่ใช้น้ำมันออกเทน 91 ได้ แต่ผู้ใช้รถส่วนหนึ่งพอใจที่จะใช้แก๊สโซฮอล์ออกเทน 95 แทนการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพราะพอใจในความแรงและอัตราเร่ง เช่นผู้เขียนเป็นต้น ซึ่งเดิมราคาน้ำมัน ULG 91 จะแพงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภท แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นน้ำมันที่ราคาเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 แล้ว ดังนั้น จะช้าอยู่ไยการเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน ULG 91 จึงเกิดขึ้น

แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงความแตกต่างราคาในระหว่างกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ด้วยกันเอง แต่การยกเลิกการเก็บเงินกองทุนของ ULG ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมัน E20 ซึ่งขณะนี้รถใหม่ที่เข้ามาในตลาดเป็นรถใช้น้ำมัน E20 ได้เกือบทั้งหมด แต่ปั๊มน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมัน E20 กลับมีเพียง 9% ของปั๊มน้ำมันเบนซินทั้งหมด เมื่อความต้องการใช้ ULG ได้กลับมาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปั๊มน้ำมันมีปัญหาเรื่องจำนวนถังและหัวจ่ายน้ำมันที่มีได้จำกัด การชะลอการติดตั้งถังและหัวจ่ายของน้ำมัน E20 จึงเกิดขึ้น น้ำมัน E20 ยังคงหาเติมยาก การใช้ E10 แทนยังมีอยู่ต่อไป ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเอทานอลก็ต้องระทมต่อไป เพราะการใช้ไม่เพิ่มแต่กำลังการผลิตเอทานอลกลับมีมากกว่าความต้องการถึง 60%

โครงสร้างการใช้น้ำมันที่เปลี่ยนไปจะส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันมากขึ้นจากปกติ ทำไม?อย่างไร? เพราะขณะนี้มีเพียงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ประเภทเดียวที่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ในอัตรา 1.4 บาทต่อลิตร ในขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ประเภทอื่นต้องจ่ายชดเชยในอัตรา 1.4-13.5 บาทต่อลิตร ตามโครงสร้างการใช้น้ำมันปัจจุบันเงินที่ไหลเข้าดังกล่าวไม่พอเพียงแม้จะใช้ชดเชยราคาน้ำมันแก๊สโฮอล์ด้วยกันเอง (ติดลบ 318 ล้านบาทต่อเดือน) และหากรวมผลจากการยกเลิกการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ULG ที่ผู้ใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ 91/95 E10 จะเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน ULG เกินร้อยละ 30 นั่นหมายถึงกองทุนน้ำมันจะต้องรับภาระในกลุ่มเบนซินมากขึ้น ในขณะที่ภาระการชดเชยราคาของก๊าซหุงต้มและ NGV ของกองทุนน้ำมันมีสูงถึง 2,300ล้านบาทต่อเดือน

หากดูภาพรวมของกองทุนน้ำมันในปัจจุบันไม่มีรายได้ใดเลย โดยเฉพาะการไม่เก็บเงินเข้ากองทุนของน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นรายได้หลัก ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีเงินสด 16,800 ล้านบาท โดยมีหนี้อยู่ระหว่างการเบิกจ่าย 17,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงฐานะกองทุนน้ำมันที่ติดลบแล้วประมาณ 200 ล้านบาท

เมื่อมองอนาคตไปไกลถึงสิ้นปี ภาระการชดเชยการนำเข้า LPG (2,000ล้านบาทต่อเดือน) การตรึงราคา NGV ให้ ปตท. (420 ล้านบาทต่อเดือน) การชดเชย LPG สำหรับโรงกลั่น (200 ล้านบาทต่อเดือน)และภาระหนี้อื่นๆ เช่น การจ่ายชดเชยสต๊อกน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันจากการลดราคาน้ำมันการงดจัดเก็บกองทุนน้ำมัน ULG อีกประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงจนถึงสิ้นปี 2554 รัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาจ่ายหนี้สินประมาณ 14,000 -15,000 ล้านบาท และหากรัฐขยายการตรึงราคาน้ำมันออกไปถึงกลางปีและสิ้นปี 2555 จำเป็นต้องกู้เงินรวม 30,000 และ 45,000 ล้านบาทตามลำดับ

ความจริงแล้วการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของULG พร้อมการจัดการผลกระทบอย่างเหมาะสมสามารถกระทำได้ แค่เพียงกระทรวงพลังงานจะดำเนินการพร้อมกับการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน ULG 91 โดยรถจักรยานยนต์สองจังหวะที่จำเป็นต้องใช้ ULG ที่มีเพียง 3 แสนคัน (จากรถ 17 ล้านคัน) เหล่านั้น สามารถใช้น้ำมัน ULG95 ได้ ซึ่ง ปตท.และบางจากอาจต้องกลับมาช่วยจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ULG 95 ส่วนหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยในการพยุงการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ไว้ได้ ในขณะที่หัวจ่ายน้ำมันเบนซิน ULG 91 ที่ยกเลิกไป สามารถนำไปใช้สำหรับการจำหน่ายน้ำมัน E20 รองรับรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้

หากมองไปในระยะยาว เราคงต้องถามตัวเองว่าต้องการเป็นประเทศที่ต้องการมุ่งส่งเสริมการการใช้เอทานอลอย่างจริงจังหรือไม่ หากคำตอบ คือ ใช่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 สามารถที่จะรองรับผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 E10 ได้ โดยหากยังมีผู้บริโภคที่ชอบอัตราเร่งและยอมซื้อน้ำมันที่ราคาสูงกว่า และความจริงแล้วต้นทุนการผลิตของน้ำมันสองชนิดนี้ต่างกันเพียง 25 สตางค์ต่อลิตร การเหลือการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 เฉพาะออกเทน 95 จะมีความเหมาะสมในเชิงประโยชน์ของประเทศ และหากต้องการเพิ่มยอดการใช้น้ำมัน E85 ขึ้นไปอีก ในอนาคตจำเป็นต้องปรับลดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถ Eco Car ลงประมาณ 3% ซึ่งประมาณ 30,000 บาท ชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับแบบรถยนต์ ซึ่งจะทำให้มีรถยนต์ใหม่ E85 มากขึ้น พร้อมการบริหารจัดการที่คล่องตัวของคลังและสถานีบริการน้ำมัน แล้วเมื่อนั้นการส่งเสริมการใช้เอทานอลจึงจะไปถึงเป้าหมาย

ที่จริงแล้วเรื่องร้อนๆ ด้านพลังงานยังมีอีกหลายเรื่อง นโยบายด้านไฟฟ้า อนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียน มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส. หรือ E for E) ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาประจำปีของมูลนิธิฯ ในวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซนทารา แกรนด์ ลาดพร้าว โดยช่วงเช้าจะมีการเสวนาประเด็นร้อนเรื่องนโยบายพลังงาน โดยผู้แทนจากภาคเอกชน (คุณพิศวรรณ อัชนะพรกุล CEO ของบริษัทเชลล์ฯ) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ (ศ.ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์) ผู้แทนผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ (คุณพัชรี คงตระกูลเทียนจากเครือ CP) และผู้แทน NGO ซึ่งท่านเป็นนักพัฒนาโครงการชุมชน (อาจารย์ชาญชัย ลิมปิยากร จากอาศรมพลังงาน)

นอกจากนั้นแล้วในงานสัมมนาดังกล่าว ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการพลังงาน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จะมากล่าวปาฐกถาในเรื่อง "การวางรากฐานพลังงานไทยเพื่ออนาคต" ขอย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาลแต่ประการใด แต่เป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มีบทบาทในการวางรากฐานพลังงานที่สำคัญในอดีต เช่น การยกเลิกควบคุมและเปิดเสรีตลาดน้ำมันไทย การยกเลิกการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว การกระจายแหล่งและประเภทการใช้พลังงาน และการออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยท่านจะมาบอกว่าถ้าเราอยากเห็นความก้าวหน้าด้านพลังงานของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า รากฐานสำคัญสำหรับประเทศไทยในวันนี้จะต้องเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับเครื่องบิน แต่เกี่ยวกับอนาคตด้านพลังงานของประเทศเรา


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com